พระบูชาประจำวันอาทิตย์

ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์เป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า มีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก มองการณ์ไกล ชอบวางแผน พระประจำวันเกิด คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปลายเท้าชิดติดกัน หันหน้าตรง มือขวาทับมือซ้ายประสานกันอยู่เหนือตัก พระเนตรทั้งสองเบิกกว้างมองตรงไปด้านหน้า เหมือนประหนึ่งว่ามองหาผู้ที่ต้องไปโปรด หรือผู้ที่มีความเดือดร้อน


พระพุทธรูปปางถวายเนตรมีพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย คาถาที่ใช้ในการบูชาคือ คาถาพระนารายณ์แปลงรูป อะ วิช สุ นุส สา นุตติ ให้ท่องคาถานี้ก่อนออกจากบ้าน 6 จบ จะอัญเชิญพุทธคุณเข้าครอบกายเป็นกำแพงแก้วเพื่อคุ้มภัย
บทสวดมนต์ที่ใช้สำหรับสวดบูชาพระพุทธรูปปางถวายเนตรคือ บทโมรปริตร ซึ่งเป็นพระพุทธมนต์ที่ว่าด้วยการบูชาพระอาทิตย์ โดยมีตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งที่องค์ตถาคตเกิดเป็นพญายูงทอง มีพระมเหสีของพระราชาองค์หนึ่งได้นิมิตว่าถ้าได้ฟังธรรมจากพระยายูงทองแล้วจะได้บุตร พระราชาจึงได้มีรับสั่งให้พรานจากทั่วทั้งเมืองไปจับยูงทองมาให้ แต่พญายูงทองก็ได้แคล้วคลาดจากบรรดาพรานทั้งหลายทุกครั้งเพราะคาถาโมรปริตรนี้ ทำให้พระมเหสีไม่ได้ฟังธรรมจากพญายูงทองนางจึงตรอมใจตายในที่สุด พระราชาจึงโกรธแค้นพญายูงทองมาก เพราะคิดว่าพญายูงทองเป็นสาเหตุทำให้พระมเหสีตรอมใจตาย จึงเขียนจารึกลงในสุพรรณบัฎทองคำว่า เนื้อนกยูงทองเป็นยาอายุวัฒนะเพื่อให้คนตามจองเวรยูงทอง (ตามเรื่องราวที่มีปรากฎอยู่ในชาฎกกัณฑ์ที่ 159 โมรชาดก) แต่ยูงทองก็รอดพ้นจากการถูกจับได้ทุกครั้ง สุดท้ายก็พลาดท่าโดนนายพรานจับจนได้ในวันที่ไม่ได้ท่องคาถาโมรปริตรในตอนเช้านั่นเอง
บทสวดโมรปริตรแบ่งออกเป็น 2 บท คือ บทแรกสำหรับท่องตอนเช้าก่อนเดินทางออกจากบ้าน บทหลังสำหรับท่องก่อนเข้านอน ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงเช้าอาจจะไม่ค่อยมีเวลามากพอที่จะท่องบทสวด ก็สามารถท่องรวบยอดเลยทั้งสองบทตอนก่อนเข้านอนก็ได้เช่นกัน เพื่ออัญเชิญพระพุทธคุณมาคุ้มครองภัย ในยามที่ต้องเดินทางหรือตอนเริ่มต้นทำงานในเช้าวันใหม่ สำหรับผู้ทำการค้าขายให้สวดบทโมรปริตรบทแรกก่อนทำการเปิดร้าน 3 จบ และบทหลัง 1 จบก่อนปิดร้าน จะทำให้ค้าขายมีผลกำไรดี
พุทธานุภาพที่เกิดจากการท่องบทสวดโมรปริตร จะช่วยให้เกิดความแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง รอดพ้นจากการถูกปองร้าย มีชัยชนะเหนืออริศัตรู และเพื่อให้เกิดพุทธานุภาพสูงสุดควรท่องบทสวดนี้เป็นประจำทุกวัน

บทโมรปริตร (ช่วงเช้า)
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตตะวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

บทโมรปริตร (ช่วงเย็น)
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หิริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยั้ชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตตุวา โมโร วาสะมะ กัปปะยีติ ฯ