หลักการตั้งศาลเจ้าที่จีน (ตี่จู้เอี๊ยะ)

จู้หรือศาลเจ้าที่จีน ตี่ หมายถึง ดิน จู้ หมายถึง เจ้า จากชื่อก็สื่อความหมายแล้วว่าการตั้งตี่จู้ต้องตั้งติดดิน เจ้าที่จึงจะมีพลัง ซึ่งหลักการตั้งตี่จู้ก็เหมือนกับการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ของไทย คือต้องตั้งอยู่ชั้นล่าง สำหรับครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม และคิดจะตั้งตี่จู้อยู่บนดาดฟ้าก็หมดสิทธิ์ที่จะได้รับโชคลาภจากตี่จู้ ซึ่งต่างจากการตั้งศาลพระพรหมที่สามารถตั้งอยู่บนดาดฟ้าได้ การวางตี่จู้จะวางทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของตัวบ้านก็ได้ แต่ต้องดูตำแหน่งของตี่จู้ประกอบกันไปด้วย หากบริเวณที่จะตั้งตี่จู้อยู่ลึกเข้าไปภายในตัวบ้าน หรือพื้นที่วางต่ำกว่าถนน ควรทำฐานรองตี่จู้ให้สูงเท่ากับถนน เพื่อให้เจ้าที่ที่พำนักอยู่ภายในตี่จู้สามารถมองเห็นเบื้องหน้าได้ดียิ่งขึ้น โดยทำฐานเป็นดินเรียบหรือฐานหินอ่อน หินแกรนิตที่ทึบตัน ซึ่งสื่อความหมายถึงรากฐานของชีวิตที่มั่นคง และที่สำคัญอย่าลืมเผื่อพื้นที่เหม่งตึ๊ง หรือพื้นที่โล่งเพื่อเอาไว้วางของไหว้และเพื่อเป็นรองรับโชคลาภบารมีที่จะเข้ามาอีกด้วย
บางบ้านอาจวางตี่จู้ไว้ในในตู้โชว์เพื่อสวยงามหรือเพื่อความเหมาะสมก็ตาม ควรต้องเว้นพื้นที่ทั้งด้านซ้ายด้านขวาและด้านบนของตี่จู้ไว้ด้วย การเว้นพื้นที่ก็ให้เว้นตามขนาดของตี่จู้ ถ้าตี่จู้ขนาดใหญ่ก็เว้นที่ไว้เยอะ ถ้าตี่จู้ขนาดเล็กก็ให้เว้นไว้น้อย หากรูปลักษณ์ของตี่จู้ไม่กลมกลืนกับดีไซน์ของบ้านก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของตี่จู้จากเดิมที่ทำจากไม้ให้เป็นตี่จู้ที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น หินอ่อน และตี่จู้ก็ไม่จำเป็นต้องทาสีเสมอไป การที่เราเห็นตี่จู้ส่วนใหญ่เป็นสีแดงนั้นเป็นเพราะรูปแบบนี้ทำมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วนั่นเอง
ไม่ควรวางตี่จู้ไว้ในบริเวณที่มีความเคลื่อนไหวอย่างเช่น บริเวณประตู หน้าบนได หน้าห้องน้ำ และหน้าห้องครัว แต่ถ้าไม่สามรถเลี่ยงได้ต้องตั้งตี่จู้ที่หน้าบันได ก็ให้แก้ด้วยการแปะแผ่นหินสักประมาณ 2-3 แผ่นลดหลั่นกันลงมาตามขนาดของแผ่นหินจากเล็กไปหาใหญ่ก็สามารถช่วยได้ โดยจะต้องติดแผ่นหินที่ขนาดเล็กสุดให้อยู่หน้าสุด และควรมีขนาดใหญ่กว่าด้านบน และด้านซ้าย-ขวาของตี่จู้อย่างน้อยข้างละ 1 นิ้ว แผ่นหินเหล่านี้เปรียบเสมือนภูเขาที่มั่นคง เราจึงเชิญตี่จู้ให้มาตั้งอยู่ ณ ด้านหน้าของแผ่นหินนั่นเอง

ทิศรอบตี่จู้เอี๊ยะ
ด้านหลังตี่จู้ ไม่ควรเป็นประตู บันได ห้องน้ำและห้องครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรตรงกับเตาไฟ
ทิศด้านหน้าตี่จู้ ควรเป็นเหม่งตึ๊ง เพื่อรองรับโชคลาภบารมีที่จะเข้ามา
ทิศบนตี่จู้ ไม่ควรวางสิ่งของใด ๆ ไว้เหนือตี่จู้
ทิศใต้ตี่จู้ ไม่จำเป็นต้องใส่สิ่งใด แต่ต้องการใส่ให้ใส่แผ่นเงินแผ่นทอง หรือจำพวกเพชรนิลจินดา เพราะถือว่าเป็นธาตุดินไม่ขัดกับอำนาจของตี่จู้
หลังจากได้ทราบหลักการตั้งตี่จู้กันไปแล้ว จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากแต่อย่างใดเลย แต่สิ่งที่ทุกคนไม่ควรลืมเลือนกันไปก็คือ เราต้องยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตด้วย ไม่ใช่หวังคอยพึ่งแต่โชคลาภวาสนาเพียงอย่างเดียว หากครอบครัวใดสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว คำว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” ที่ไม่ว่าครอบครัวไหน ๆ ก็ต้องการนั้นก็อยู่ไม่ไกลเกินฝันอย่างแน่นอน

ลักษณะของศาลเจ้าที่จีน
ลักษณะของศาลเจ้าที่จีน หรือตี่จู้ นั้นสามารถบ่งบอกถึงอุปนิสัยใจคอของผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้นได้ว่าเป็นเช่นไร และการที่จะพิจารณาลักษณะของตี่จู้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบการพิจารณาอยู่หลายประการด้วยกัน

ลักษณะของศาลเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ยะ) ที่ดี
หลังคาของศาลควรจะมี 2 ชั้นขึ้นไป จึงจะถือว่าใช้ได้ (หลังคาหมายถึงที่รองรับโชคลาภ)
หลังคาไม่มีลักษณะของ “ผ่าใจกลางโชคลาภ”
มีเสามังกร 2 คู่ หรือ 4 ต้น
ด้านหน้าของฐานรอบรั้วมีลักษณะกว้าง ไม่คับแคบเกินไป รอบรั้วไม่โปร่งหรือทึบจนเกินไป
ฐานของศาลควรสูงพอดี ไม่เกิน 2 นิ้ว

ลักษณะของศาลเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ยะ) ที่ไม่ดี
หลังคาของศาลมีเพียงชั้นเดียว หมายถึงโชคลาภมาเพียงรุ่นเดียว
หลังคามีลักษณะของ “ผ่าใจกลางโชคลาภ” ทำให้ผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าบ้านเอาแต่ใจตัวเอง ลุ่มหลงอบายมุข เอาเปรียบผู้อื่น
ด้านหน้าของฐานรอบรั้วมีลักษณะแคบ รอบรั้วทึบ ฐานแคบ
ฐานของศาลสูงเกินไป ไม่ควรเกิน 2 นิ้ว เพราะจะทำให้เจ้าบ้านเหน็ดเหนื่อย รายได้น้อย รายจ่ายมาก
ภายในศาลมีลักษณะสกปรก ไม่มีการดูแลศาลให้สะอาดเปรียบเสมือนเจ้าบ้านหรือคนในบ้านไม่ดูแล