ตำนาน 12 นักษัตร

คำว่า นักษัตร หมายถึง ชื่อรอบของเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยมีการกำหนดให้สัตว์ 12 ชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนแต่ละปี เรียงกันไป ดังนี้
ปีชวด แทนด้วยสัญลักษณ์ หนู
ปีฉลู แทนด้วยสัญลักษณ์ วัว
ปีขาล แทนด้วยสัญลักษณ์ เสือ
ปีเถาะ แทนด้วยสัญลักษณ์ กระต่าย
ปีมะโรง แทนด้วยสัญลักษณ์ งูใหญ่
ปีมะเส็ง แทนด้วยสัญลักษณ์ งูเล็ก
ปีมะเมีย แทนด้วยสัญลักษณ์ ม้า
ปีมะแม แทนด้วยสัญลักษณ์ แพะ
ปีวอก แทนด้วยสัญลักษณ์ ลิง
ปีระกา แทนด้วยสัญลักษณ์ ไก่
ปีจอ แทนด้วยสัญลักษณ์ สุนัข
ปีกุน แทนด้วยสัญลักษณ์ หมู
ตามตำนานการตั้งจุลศักราช ได้กล่าวว่า ให้เริ่มต้นใช้จุลศักราช 1 เมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เอกศก ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 1182 และจากการที่กล่าวว่า ให้เริ่มจุลศักราชในปีกุน นั่นแสดงว่าปีนักษัตรได้เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนปีจุลศักราช แต่มีมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้ เพราะหาหลักฐานได้ยาก แต่สำหรับประเทศไทยได้แบบอย่างการใช้ปีนักษัตรมากจากไหนนั้น ในหนังสือพงศาวดารไทยใหญ่ พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
12 นักษัตรช้างไทยสยาม
นั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์
สาขาปีมาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่
ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือน
ไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร
ฝ่ายไทยใหญ่ก็ไพล่ไปเลียนนาม
ปีและนามองค์สังหรณ์จากไทยลาว
หาใช้นามปีของตนเองไม่ และไทย
ลาวน่าจะถ่ายแบบมาจากจีน อัน
เป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมา
อย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่ เป็นแต่
มีเค้ารู้ได้ว่า เลียนจีน


ส่วนตำนาน 12 นักษัตรข้างฝ่ายจีน ก็ได้มีเรื่องเล่ามตามนิทานว่า เกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีมนุษย์ จากไอฟ้าและดินมากระทบกันแล้วกลายเป็นศิลากลมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แล้วแตกแยกออกเป็นก้อนเล็ก ๆ อีก 12 ก้อน เกิดเป็นคน 13 คน และก้อนกลมใหญ่นั้นก็คือ “เทียนอ่องสี” แปลว่าเป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่มีเดือนมีตะวัน มนุษย์พึ่งพาแสงสว่างจากรัศมีพระและเทวดามาช่วยอุปถัมภ์ และในขณะนั้นก็ยังไม่มีชื่อมีแซ่ ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปอยู่กันทุกทิศ จนอยู่มาวันหนึ่งเทียนอ่องสีเรียกน้องชายทั้ง 12 มาชุมนุมกัน แล้วว่าจะตั้งให้มีปี 12 ปีบรรจบกันเป็นหนึ่งรอบ และจะให้น้องทั้ง 12 คนเป็นชื่อแทนแต่ละปี น้อง 12 คนได้ฟังก็มีความยินดียอมรับ แล้วต่างคนก็กลับไปอยู่ที่ของตนดังเดิม ต่อมาได้ปรากฎสัตว์ประหลาดรูปร่างเหมือนม้ามีเกล็ด มีปีก สะพายหีบแดงขึ้นมาจากแม่น้ำเม่งจิ๋น มีอักษรจารึกไว้ที่หีบว่า “ห้อโตลกจือ” เป็นตำราโหราศาสตร์ แจ้งวัน เดือน และคืน ตลอดจนมี 12 นักษัตร มีศก แต่ยังไม่มีชื่อเรียกตามปี