พระธาตุประจำปีกุน

พระธาตุดอยตุง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับผู้ที่เกิดปีกุน ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง จังหวัดเชียงราย


ตามตำนานได้เล่าว่า พระธาตุดอยตุงได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราชกษัติร์ย์แห่งเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ที่พระมหากัสสปะได้อัญเชิญมามอบให้เพื่อประดิษฐานบนดอยแห่งนี้ตามคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า และก่อนที่จะสร้างพระเจดีย์พระเจ้าอชุตราชก็ได้ทรงให้สร้างตุง (ธง) ที่มีความยาวถึง 1,000 วาปักบนยอดดอยหากตุงปลิวไปถึงที่ใดบนยอดดอยก็จะกำหนดให้ที่ตรงนั้นป็นฐานของพระเจดีย์ อีกทั้งยังพระราชทานทองคำเป็นค่าที่ดินให้แก่พวกลาวจกด้วย และมอบหมายให้พวกมิลักขุจำนวน 500 ครอบครัว เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุ ต่อมาในรัชสมัยพระพญาเม็งรายแห่งราชวงศ์เม็งรายก็ได้รับการถวายพระบรมสารีริกธาตุจากพระมหาวชิระโพธิเถระอีก 50 องค์ พระองค์จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับพระเจดีย์องค์เดิมเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับการถวายมา บนยอดดอยตุงจึงมีพระเจดีย์สององค์อยู่คู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปี 2470พระธาตุมีการทรุดโทรมลงไปมากพระครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาได้ร่วมกับชาวเชียงรายบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่โดยสร้างเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยมตามแบบศิลปะล้านนา จนมาในปี 2516กระทรวงมหาดไทยได้มีการบูรณะองค์พระธาตุอีกครั้งโดยการสร้างเจดีย์องค์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ครั้นมาในปี พ.ศ. 2549กรมศิลปากรได้มีโครงการรื้อถอนพระเจดีย์องค์เดิมตามคำร้องขอของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นที่ได้แจ้งไปยังสำนักโบราณคดีให้ช่วยบูรณะฟื้นฟูพระเจดีย์องค์เดิมที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะไว้ตามที่ปรากฎในพระวิหารพระธาตุดอยตุง ซึ่งปัจจุบันถูกครอบด้วยพระเจดีย์องค์ใหม่ คณะทำงานจึงได้หารือกันแล้วทำการรื้อเจดีย์องค์ที่ครอบอยู่ไปตั้งไว้ที่วัดพระธาตุน้อยดอยตุงซึ่งอยู่ด้านล่างตรงทางขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นค่อยดำเนินการบูรณะพระธาตุครูบาศรีวิชัยให้กลับสู่สภาพดังเดิม ทั้งยังปรับปรุงลานพระธาตุให้กว้างขึ้น ย้ายพระพุทธรูปองค์ใหญ่รูปปางต่าง ๆ ไปประดิษฐานยังที่ที่เหมาะสม รวมถึงปรับปรุงบันไดทางขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย

งานนมัสการพระธาตุดอยตุง
งานนมัสการพระธาตุดอยตุง จะจัดขึ้นในวันเพ็ญ 3 โดยชาวไทใหญ่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และชาวล้านนาที่มีความคารพสักการะต่อองค์พระธาตุอย่างมากได้ดำเนินการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ที่เกิดปีกุนหรือประชาชนทั่วไปควรหาโอกาสไปกราบสักการะสักครั้งจะเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง

คำกล่าวบูชาพระธาตุดอยตุง
(ท่องนะโม 3 จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง
มะหาคะมา นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทา