การไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน

ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณ ที่เรียกกันว่า กว้อชุนเจี๋ย หรือ กว้อเหนียน มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในป่ารกทึบอยู่แห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าชื่อว่า เหนียน เป็นสัตว์ป่าที่มีความดุร้ายมาก ออกอาละวาดทำร้ายกินคนเป็นประจำ จนเมื่อพระเจ้าทราบเรื่องจึงสั่งลงโทษสั่งห้ามให้มันลงมาจากเขาได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เมื่อฤดูกาลหมุนเวียนเปลี่ยนไปจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เหนียนก็ยังออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนอยู่เรื่อยไป จนชาวบ้านพากันหวาดกลัวและหาวิธีป้องกันตัวเอง ด้วยการกักตุนอาหารจำนวนหนึ่งไว้ในบ้านเมื่อถึงวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างไว้ โดยไม่หลับไม่นอนเพื่อต่อสู้กับเหนียน จนกระทั่งรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เหนียนก็จะกลับไปยังป่า ชาวบ้านต่างก็เปิดประตูหน้าต่างออกมาแสดงความยินดีต่อกันที่โชคดีรอดพ้นจากการถูกเหนียนทำร้ายได้
ต่อมาชาวบ้านก็ได้พบจุดอ่อนของเหนียน ซึ่งก็คือมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเหนียนมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และมีเด็ก ๆ กำลังหวดแส้เล่นกันอยู่เสียงดังเปรี้ยงปร้างเมื่อเหนียนได้ยินเสียงนั้นก็ตกใจรีบวิ่งหนีไป จนมาถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง ก็เป็นมีชุดสีแดงตากอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง สีแดงนั้นทำให้เหนียนตกใจและเผ่นหนีไปอีก ไปจนถึงหมู่บ้านที่สาม เหนียนเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสดงเพลิงเจิดจ้าทำให้เหนียนกลัวต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมาผู้คนต่างรู้ว่าจะหาวิธีกำจัดเหนียนได้อย่างไร เพราะถึงแม้ว่าเหนียนจะดุร้ายแค่ไหนแต่ก็กลัวสีแดง แสงไฟ และเสียงดัง
จากนั้นมาทุกคครัวเรือนจึงนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมทั้งจุดประทัดและตีกลองรัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อว่าถ้าเหนียนได้ยินเสียงดังและเห็นแสงไฟสีแดงที่ติดอยู่ตามหน้าบ้าน ก็จะเกิดความกลัวไม่กล้ามาอาละวาดทำร้ายคนในหมู่บ้านอีก และในคืนที่เหนียนออกมาแล้วได้ยินเสียงดังจากประทัดและเห็นแสงไฟสีแดงก็ตกใจกลัวรีบเผ่นหนีไปโดยไม่ได้ทำร้ายใครเลย พอรุ่งเช้าชาวบ้านก็ต่างออกมาแสดงความยินดีกันอย่างมีความสุขที่ได้รอดพ้นจากการทำร้ายของเหนียน พร้อมได้นำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างมีสนุกสนาน ซึ่งต่อมาวันดังกล่าวนี้ก็กลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่เรียกกันว่า “ตรุษจีน” และถือเป็นประเพณีที่ชาวจีนให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานเป็นประจำทุกปี