ศาลเจ้าจีนในประเทศไทย

การบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเซ่นไหว้ บวงสรวงบูชาด้วยของไหว้หรือเครื่องสักการะบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นสิริมงคลและขอให้ได้สิ่งที่ต้องการนั้น ก็เพราะมีความเชื่อว่าถ้าเทพเจ้าพึงพอใจก็จะดลบันดาลให้ได้สิ่งที่ขอไว้ หากแต่ผู้นั้นปฏบัติไม่ดีก็จะถูกเทพเจ้าลงโทษ
ความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้านั้นเป็นความเชื่อที่ถูกฝังรากมานานในทุกชนชาติ เพราะก่อนที่จะมีศาสนาขึ้นมาในโลกหรือการค้นพบวิทยาการแผนใหม่ มนุษย์ก็มีเทพเจ้าเป็นที่พึ่งทางใจ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีศาสนาหลายศาสนาเกิดขึ้นมาแล้วในโลกก็ตาม ความเชื่อเรื่องและการนับถือเทพเจ้าก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่หายไปไหนกลับมีแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย สำหรับประเทศไทยถึงแม้จะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเทพยาดาฟ้าดิน ก็ยังคงฝังอยู่ในจิตใจของชาวไทยอย่างเหนียวแน่น ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็ไม่ยากที่จะผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยกับชาวจีนเข้าด้วยกัน ปัจจุบันศาลเจ้าของจีนหรือศาลเทพารักษ์ของไทยก็เกือบจะมีลักษณะใกล้เคียงกันอยู่แล้วโดยเฉพาะในแง่ของความรู้สึกที่ว่า มีเทพเจ้าหรือสิ่งศักพิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ณ ศาลบูชานั้น ดังนั้นจึงต้องมีการบวงสรวงบูชา ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลและโชคลาภที่จะได้กลับมานั่นเอง
ศาลเจ้าจีนมีกำเนิดในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตามที่มีการบันทึกประวัติการติดต่อระหว่างชนชาติไทยและชนชาติจีน และมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมประเพณีเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีติดต่อทำการค้าขายกัน และชาวจีนเริ่มมีการมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยสมัยเริ่มต้นชาวจีนมักตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งทะเลก็เพื่อความสะดวกในการจอดเรือ จนมาถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เริ่มมีชาวจีนอพยพถิ่นฐานมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากขึ้น จึงเกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยจีนกันอย่างแพร่หลาย ชาวจีนมักรวมกลุ่มกันจนเป็นชุมชนใหญ่เพื่อทำการค้าขายและมีการตั้งศาลเจ้าขึ้นในชุมชน ซึ่งในช่วงนั้นก็มีชาวจีนจำนวนมากมักนิยมไปกราบไหว้เทพเจ้าที่วัดพนัญเชิงและวัดกัลญาณมิตร ซึ่งในวัดจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตามปรัชญานิยมและตามความเชื่อของตน ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “ซำป๋อฮุดกง”
และมาในช่วงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชาวไทยก็เริ่มอพยพมาเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ชาวจีนที่มาอาศัยกันอยู่เป็นชุมชนก็เริ่มมีการสร้างศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เคารพบูชากันอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามคติความเชื่อ ซึ่งศาลเจ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญต่อชาวจีนในสมัยนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันได้แก่ ศาลเจ้าวัดย่งฮกยี่ซึ่งสร้างตามแบบลักษณะของวัดจีน ไม่ได้เป็นแบบฉบัยของศาลเจ้าโดยตรง วัดเล่งเน่ยยี่หรือวัดมังกรกมลาวาส ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงนอก ซึ่งเป็นวัดที่มีทั้งชาวจีน ชาวไทย และชาติอื่น ๆ ต่างเดินทางไปกราบไหว้กันเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี