พระธาตุประจำปีระกา

พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีระกา ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูนมานานนับพันปี สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ นครหริภุญชัย เพื่อประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้าในส่วนธาตุกระหม่อม กระดูกอก กระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง


ตามตำนานได้เล่าว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์เรื่อยมาจนถึง ณ ที่แห่งนี้ ก็ได้รับการถวายลูกสมอจากชาวลั๊วะคนหนึ่ง จากนั้นพระองค์ก็ทรงได้พยากรณ์ว่า ต่อไปสถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า หริภุญชัยนคร และเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือและธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึง โดยแต่เดิมพระบรมธาตุนั้นได้เก็บบรรจุไว้ในกระบอกไม้รวกและครอบด้วยโกศแก้วอีกชั้นหนึ่ง ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราชผู้ครองเมืองหริภุญชัย ได้โปรดให้เปลี่ยนจากโกศแก้วมาเป็นโกศทองแล้วสร้างเป็นมณฑปปราสาทจนจนในที่สุดก็เป็นพระเจดีย์ธาตุ และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาทุกยุคสมัยเพื่อขยายขนาดของพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น จนมาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ก็ได้มีการขยายขนาดพระเจดีย์จนมีความสูงถึง 25 วาครึ่ง กว้าง 12 วาครึ่ง ดังปรากฎให้เห็นเป็นวัดพระธาตุหริภุญชัยในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกมากมายเช่น ปทุมวดีเจดีย์หรือพระสุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่ภายในบรรจุพระพิมพ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของเมืองลำพูน เจดีย์เชียงยันหรือเจดีย์เชียงยืน หอระฆัง หอไตรหรือหอธรรม และ วิหารหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญชัยที่แกะสลักลงรักปิดทองอย่างสวยงามประทับนั่งอยู่เหนือบุษบก เป็นต้น

งานนมัสการพระธาตุหริภุญชัย
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ประเพณีแปดเป็ง” จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี เพราะถือว่าพระธาตุหริภุญชัยเป็นพระเจดีย์ที่มีความสำคัญหนึ่งในแปดของประเทศไทย ตามธรรมเนียมที่ปฏบัติมาแต่โบราณน้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนั้นจะเป็นน้ำสรงพระราชทานที่นำมาจากบ่อน้ำทิพย์บนยอดดอยขะม้อที่อยู่นอกเมือง และน้ำสรงของประชาชน

คำกล่าวบูชาพระธาตุหริภุญชัย
(ท่องนะโม 3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฎฐัง วะระโมลี ธารัง
อุรัฎฐิเสฎฐัง สะหะอังคุลิฎฐิง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะการัง
สีเสนะ มัยหัง ปะระนามิ ธาตุง