พระธาตุประจำปีวอก

พระธาตุพนม เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีวอก ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอนครพนม จังหวัดนครพนม เป็นพระธาตุที่มีความสำคัญเป็นศูนย์รวมจิตใจต่อประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุรังคะธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า


ตามตำนานได้เล่าว่า พระธาตุพนมได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันเสน พระยาอินทปัด พระยาคำแดง และ พระยาสุวรรณภิงคาร ร่วมกับไพล่พลจำนวนมาก ตกแต่งลวดลายโดยพระอินทร์ และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ เป็นศิลปะทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-15 ฝีมือช่างพื้นบ้าน จึงถือได้ว่าพระธาตุพนมเป็นพุทธเจดีย์ที่มีความเก่าแก่มากในภาคอีสาน ต่อมาได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์จากกษัตริย์ล้านช้าง ในสมัยพระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) ได้นำราษฎรจากเวียงจันทน์จำนวน 3,000 คน มาช่วยกันปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุให้สูงขึ้นตามรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมาในปี 2483 ก็ได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกโดยรัฐบาล จนกระทั่งวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เกิดพายุฝนตกหนักมากพระธาตุพนมได้ทรุดตัวพังทลายลงมาและหักเป็น 3 ตอน ตอนแรกคือ ส่วนดั้งเดิม ส่วนกลางคือส่วนที่บูรณะโดยพระครูเสม็ด ส่วนตอนที่ 3 คือ ส่วนที่บูรณะเพิ่มเติมในปี 2483 และได้มีการค้นพบพระธาตุเจดีย์ในบริเวณส่วนกลางซึ่งเป็นกล่องสำริดสำหรับใส่ผะอบซ้อนกันอยู่ 6 ชั้น โดยชั้นในสุดได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ส่วนพระธาตุพนมองค์ปัจจบัน ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนองค์เดิมที่ได้พังลงไปในปี พ.ศ. 2518 ตามรูปแบบเจดีย์องค์เดิมที่ได้สร้างครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2483 โดยมีการปักแท่งหินไว้ทั้ง 4 ทิศขององค์พระธาตุ ที่บริเวณฐานของพระธาตุก็มีภาพสลักทั้ง 4 ด้าน ซึ่งแต่เดิมเป็นลายพันธุ์พฤกษา และแทรกด้วยลายนักรบหรือกษัตริย์ทรงช้าง ม้าออกล่าสัตว์ แต่เมื่อครั้งที่พระเจดีย์พังทลายลงมาก็ได้ทำให้ลวดลายเหล่านี้เสียหายไปมากกว่าครึ่ง

งานนมัสการพระธาตุพนม
งานนมัสการพระธาตุพนมจะมีการจัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3
คำกล่าวบูชาพระธาตุพนม
กะปะณะศิริสะมิง ปัพพะเต มะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง
พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ