พระธาตุประจำปีเถาะ

พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเถาะ คือ พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตี๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็กนอกตัวเมืองน่าน องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนา รอบฐานบุด้วยทองหลืองแล้วลงรักปิดทองสวยงามเห็นเด่นเป็นสง่า


กล่าวว่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีตแล้วพระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารรีริกธาตุจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง สำหรับประวัติขององค์พระธาตุตามตำนานได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์เรื่อยมาจนถึงภูเพียงแช่แห้ง แล้วได้ทรงประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน แล้วได้พบกับพระยามลราชและพระมเหสีที่ได้มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์ และพระยามลราชก็ได้นำผลสมอมาถวายแด่พระพุทธเจ้าด้วย เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วก็เสด็จไปประทับอยู่บนยอดดอยแห่งหนึ่ง แล้วน้ำผลสมอที่ได้รับจากการถวายมาเสวยแต่ปรากฎว่าผลสมอเก็บไว้นานจนแห้งเกินไป พระพุทธเจ้าจึงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย จากนั้นก็ทรงพยากรณ์ว่า ณ ดอยแห่งนี้ต่อไปในภายหน้าจะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์มาประดิษฐานไว้ และเรียกสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
ส่วนอีกตำนานก็มีเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่ก็ได้เสด็จโปรดสัตว์เรื่อยมาจนถึงภูเพียงแช่แห้ง แล้วพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์ พระอมละราชก็ได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าเพื่อใช้สรงน้ำ ต่อมาผ้าขาวนั้นกลับกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงได้ทูลขอพระราชทานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุในไม้ซาง แล้วมอบให้พระอินทร์นำไปเก็บไว้ในอุโมงค์พร้อมผ้าทองคำผืนนั้น โดยพระอินทร์ก็ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน จนมาในสมัยของพระยากานเมืองได้ให้ความร่วมมือกับสุโขทัยโดยการส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงจนสำเร็จ พระยาลือทัยจึงได้มอบพระธาตุ 7 พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้แก่พระยากานเมืองนำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง ต่อมาได้มีการขุดพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระยากานเมืองจึงให้สร้างพระสถูปเพื่อบรรจุพระธาตุใหม่ แล้วก่อเจดีย์สูงจากแผ่นดินเป็นพระธาตุแช่แห้งอยู่คู่เมืองน่านมาจนถึงปัจจุบัน

งานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง
งานประจำปีเฉลิมฉลองพระธาตุแช่แห้งจะจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 4 โดยในงานจะจัดให้มีมหรสพและการแสดงต่าง ๆ มากมาย มีการแห่งตุงถวายพระบรมธาตุ และตามธรรมเนียมดั้งเดิมก็จะมีการจุดกระบอกไฟเพื่อถวายแด่องค์พระธาตุด้วย สำหรับผู้ที่เกิดปีเถาะในครั้งหนึ่งของชีวิตควรจะหาโอกาสไปกราบนมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งสักครั้งก็จะเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง

คำกล่าวบูชาพระธาตุแช่แห้ง
(ท่องนะโม 3 จบ)
ยา ธาตุภูตา อะตุลา นันทะปุเร เทวานุภาเวนะ วะระธาตุเสฎฐัง
อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ ธาตุโย
ยา ธาตุภูตา อะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก ปุเร
เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง จิรัง วันทามิ หันตัง ชินะธาตุโย
โส ตะถาคะตัง อะหังวันทามิ สัพพะทา อะหังวันทามิ ทูระโด